สำนักข่าวทั้งในไทยและต่างประเทศได้เผยแพร่ข่าวในวันเดียวกันเมื่อวันที่ 12 มิ.ย. 2567 ถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 และ 11 มิ.ย. 2567
ข่าวแรก ที่กรุงเทพฯ ทางการไทยจับกุมผู้ลี้ภัยชาวเวียดนามและนำเข้าสู่กระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อส่งกลับประเทศ
ข่าวที่สอง อ.แม่สอด จ.ตาก ทางการไทยบุกเข้าห้องเช่าแรงงานชาวพม่า ตรวจค้นไม่พบการกระทำผิดกฎหมาย และกลับไปโดยปราศจากการจับกุม แต่หลักฐานเป็นคลิปวิดีโอซึ่งทางกลุ่มออกมาเผยแพร่ผ่านโซเชียลมีเดีย เปิดเผยถึงการใช้ความรุนแรงด้วยวาจาและการทำร้ายร่างกาย รวมถึงการสั่งปลดธงพรรค NLD กับรูปบุคคลสำคัญทางการเมืองที่ติดอยู่บนผนังบ้านออกไปด้วย
นาย Y Quynh Bdap ผู้ลี้ภัยเวียดนามที่ถูกจับ เป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่ต่อสู้เพื่อเสรีภาพในการนับถือศาสนา ที่หลบหนีการประหัตประหารมาขอลี้ภัยในไทยตั้งแต่ปี 2561 จนผ่านการคัดกรองโดย UNHCR ว่าเป็นบุคคลในความห่วงใยที่จะต้องได้รับความคุ้มครองและเข้าสู่กระบวนการเดินทางไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในประเทศที่ 3 ก่อนหน้าที่จะถูกเจ้าหน้าที่ไทยจับกุมไม่กี่วัน นาย Y Quynh Bdap ได้ร้องขอความช่วยเหลือผ่านวิดีโอ ว่ารัฐบาลเวียดนามกล่าวหาว่าเขาเกี่ยวข้องกับเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้นเมื่อปลายปี 2566 และกำลังส่งสายลับออกตามหาตัวเขาในประเทศไทย
ขณะที่กลุ่มแรงงานชาวพม่าที่ถูกคุกคาม เป็นแรงงานโรงงานที่ถือเอกสารสำคัญประจำตัวหรือ C.I. (Certificate of Identity) และมีใบอนุญาตทำงานตามกฎหมาย พวกเขารวมกลุ่มกัน 6-7 คนทั้งหญิงชาย เพื่อระดมความช่วยเหลือด้านอาหารให้กับผู้ประสบภัยที่ต้องพลัดถิ่นฐานอยู่ในเมียนมา ในวันที่ถูกจับ เจ้าหน้าที่จากหลายหน่วยงานกว่า 20 นาย 3 คันรถบุกเข้ามาตรวจค้นโดยไม่ได้แจ้งเหตุ แต่ได้ยึดสัญลักษณ์ทางการเมืองที่ประดับบ้านไปพร้อมกับประกาศนียบัตรที่เป็นหลักฐานว่าทุนที่ระดมนั้นได้นำส่งสู่ผู้ต้องการความช่วยเหลือจริง นอกจากนี้ ในคลิปวิดีโอปรากฏมีเจ้าหน้าที่ไทยยกเท้าสูงเพื่อถีบคนคนหนึ่งเข้าอย่างจัง
คลิปที่ถ่ายยาวไม่ได้แสดงให้เห็นว่าก่อนหน้ามีการโต้เถียงหรือความรุนแรงจากอีกฝ่ายแต่อย่างใด ขณะที่พยานในเหตุการณ์ให้ข้อมูลว่า ผู้ถูกเตะกำลังยืนอยู่บนเก้าอี้เพื่อปลดภาพบนผนังลงตามคำสั่ง จึงตกลงมาบนพื้น และบาดเจ็บบริเวณเอวและสะโพก
ปฏิบัติการจับกุมผู้ลี้ภัยเวียดนามซึ่งเชื่อได้ว่าเป็นการประสานงานระหว่างรัฐต่อรัฐเพื่อส่งตัวกลับประเทศถือเป็นการละเมิดกฎจารีตประเพณีระหว่างประเทศคือหลักการไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปสู่อันตราย(Non-refoulement) และกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชนที่รัฐไทยเป็นภาคี เช่น กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง และอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการปฏิบัติหรือลงโทษี่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรี ตลอดจนพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งมาตรา 13 ห้ามส่งกลับบุคคลหากมีเหตุอันควรให้เชื่อได้ว่าจะ “ตกอยู่ในอันตรายท่ีจะถูกกระทำทรมาน ถูกกระทำการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ หรือถูกกระทำให้สูญหาย”
การกระทำของกำลังร่วมระหว่างฝ่ายปกครอง ตำรวจ ทหาร ที่ ต.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก กล่าวอ้างว่าเป็นการ “ตรวจสอบต่างด้าวที่มั่วสุมเพื่อต่อต้านรัฐบาลพม่า” และอ้างแก่ภาคประชาสังคมที่สอบถามไปว่า การติดธงและภาพดังกล่าวนั้นผิดกฎหมายไทยเนื่องจากเป็นพื้นที่แม่สอดเป็นพื้นที่ความมั่นคงพิเศษ ต่างจากกรุงเทพฯ นอกจากนี้กลุ่มดังกล่าวยังดำเนินการเรี่ยไรหรือหลอกระดมเงิน ซึ่งเข้าข่ายการกระทำผิดตามกฎหมาย อย่างไรก็ดีปฏิบัติการดังกล่าวมิได้นำไปสู่การจับกุมผู้ใด จึงหมายความว่าไม่ปรากฏหลักฐานการกระทำผิดกฎหมายใดของประเทศไทย
ขณะที่ทรัพย์สินของแรงงาน เช่น ธง ภาพนางอองซานซูจีและอื่น ๆที่ถูกยึดไป ก็มิได้เป็นสิ่งผิดกฎหมายห้ามครอบครองในประเทศไทย พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ มาตรา 6 ระบุว่า หากเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จนเป็นผลให้ผู้ถูกกระทำถูกกระทำถูกลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ หรือถูกละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ หรือเกิดความเจ็บปวดหรือทุกข์ทรมานแก่ร่างกายหรือจิตใจ จะถือเป็นความผิดฐาน “การกระทำที่โหดร้ายไร้มนุษยธรรมหรือย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”
เหตุการณ์ทั้งหมดนี้ ภาคประชาสังคมเมียนมาในโลกออนไลน์ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปฏิบัติการดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องกับการขอความร่วมมือกองทัพหรือรัฐบาลทหารเมียนมาระดับท้องถิ่นมาเพื่อปรามให้เกิดความหวาดกลัวในหมู่ประชาชนพลัดถิ่นในไทยด้วยหรือไม่ ดังนั้น ทั้ง 2 กรณีที่เกิดในวันเดียวกัน จึงสามารถถูกตีความได้ว่า เข้าข่ายการให้ความร่วมมือกับปฏิบัติการกดปราบข้ามชาติ (Transnational Repression) หรือที่ระดับสากลมักเรียกกันย่อ ๆ ว่า TNR อีกด้วย
TNR หมายถึงการใช้อำนาจรัฐข้ามแดนเข้าคุกคามหรือทำร้ายพลเมืองตนที่อาศัยอยู่ในประเทศอื่น ด้วยวัตถุประสงค์หลักคือการทำให้ผู้ต่อต้านเงียบเสียง โดยวิธีการที่ใช้มีทั้งการข่มขู่ คุกคาม เพิกถอนเอกสารแสดงตนหรือสถานะ ลักพาตัว สังหารเป้าหมายหรือครอบครัวของเป้าหมายที่ยังอยู่ในประเทศ ตลอดจนการใช้ความร่วมมือกับรัฐที่เป้าหมายอาศัยอยู่ เพื่อติดตาม ข่มขู่คุกคาม จับกุม คุมขัง และ/หรือส่งกลับประเทศ
สถานการณ์ TNR ในประเทศไทยนั้นหนักไปทางประการหลัง คือการร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ โดยมีการรายงานข่าวการจับกุมผู้ลี้ภัยการเมืองเพื่อส่งกลับประเทศอยู่เนือง ๆ เช่น กรณีนาย Voeun Veasna ผู้ลี้ภัยกัมพูชาที่ถูกส่งกลับไปในปี 2564 นาย Duong Van Thai ผู้ลี้ภัยเวียดนามที่ถูกอุ้มหายเมื่อปี 2566 การส่งกลับสมาชิก People’s Defense Force (PDF) 3 คนไปสู่มือทางการเมียนมาจนมีรายงานว่าเสียชีวิตในปี 2566 หรือเลยไปถึงการส่งกลับผู้ลี้ภัยอุยกูร์ 105 คนไปประเทศจีนเมื่อปี 2558 เป็นต้น
รายงาน We Don’t Feel Safe ของ Border Voices Team ซึ่งได้รับการจัดพิมพ์เมื่อเมษายน 2567 ชี้ว่า ความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐนั้น รวมถึงความร่วมมือทางอ้อมในเชิงนโยบายระดับประเทศในลักษณะการไม่ยอมรับสถานะทางกฎหมายของผู้ลี้ภัยการเมืองเพื่อรักษาสัมพันธ์อันดีกับประเทศต้นทาง นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือในระดับท้องถิ่น และความร่วมมือระดับบุคคล ซึ่งหมายถึงการที่เจ้าหน้าที่รัฐไทย “ร่วมมือ” กับเจ้าหน้าที่ต่างแดนเพื่อคุกคามหรือจับกุมผู้ลี้ภัยเพื่อประโยชน์ส่วนตน มิได้เป็นไปตามนโยบายคำสั่งที่อ้างประโยชน์ของประเทศ
ทุกวันนี้ TNR เป็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่รัฐต่าง ๆ กำลังระดมหนทางป้องกันและรับมือ การข่มขู่ให้เงียบเสียง เพื่อประกาศให้รู้ว่าจะไม่มีแห่งหนใดปลอดภัยสำหรับผู้คนที่ต้องการแสดงออกเสรีภาพทางความคิดเห็น คือการบ่อนทำลายให้ขบวนการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนให้อ่อนแอ การใช้อำนาจข้ามพรมแดน ไม่เพียงแต่ละเมิดสิทธิมนุษยชนพื้นฐานของบุคคลเป้าหมาย หากยังเป็นภัยคุกคามต่อหลักนิติธรรม (rule of law) และความมั่นคงของภูมิภาคด้วย
รัฐไทยมีความตระหนักรู้แล้วเพียงใดว่า ตนเองได้เข้าร่วมก่อการกดปราบข้ามชาติอันจะย้อนกลับมาทำลายตัวเอง ข่าวทั้งสองกรณีเผยแพร่ไปไกลทั้งในชุมชนเมียนมา เวียดนาม สังคมไทย และนานาชาติ การนิ่งเพื่อปล่อยให้ผู้คนถูกกระทำ หรือตกอยู่ในความหวาดกลัวและเป็นเป้าในความมืดในวันนี้ คือการตอกย้ำให้เห็นว่า หลักนิติธรรมของเราไม่มีจริง
หมายเหตุ : เมื่อ 12 มิ.ย. 2567 เวลา 17.00 น. กำนันต.แม่กุ อ.แม่สอด จ.ตาก ได้ยอมรับผิดและขอโทษต่อเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านรายการ “ตอบให้เคลียร์” ทางสถานีโทรทัศน์ NBT หากให้เหตุผลว่า ตนควบคุมอารมณ์ไม่ได้เพราะอีกฝ่ายแสดงกิริยาไม่ดีด้วย..