• พฤหัส. ก.ย. 19th, 2024

SSK News TV.OnLine

สะกิดข่าว นำความจริง สู่ประชาชน

‘Land​ ​Watch​ THAI’ ชวนย้อนประวัติศาสตร์ ปมที่ดินทับลาน

Bykthanawut

ก.ค. 9, 2024

 ชี้ แนวเขตไม่ชัดตั้งแต่อดีต พื้นที่ชาวบ้านได้รับจัดสรร ส.ป.ก. ต้องกันออก ด้าน มูลนิธิสืบฯเปิด 6 ผลกระทบ หวั่นที่ดินเปลี่ยนมือ เอื้อนายทุน ลดทอนคุณค่ามรดกโลก ขณะที่ กรมอุทยานฯ ยันไม่แก้ปัญหาแบบเหมาเข่ง 2.6 แสนไร่ ขอรอสรุป 1 เดือน..

ล่าสุด มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เตรียมยื่นหนังสือถึงคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ในช่วงสัปดาห์หน้า เพื่อขอให้พิจารณากระบวนการเพิกถอนพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงเรียกผู้ที่เกี่ยวข้อง และผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาให้ข้อมูล โดยยืนยันว่า ไม่ควรเพิกถอนแบบเหมาเข่ง พร้อม เปิด 6 ผลกระทบ หากมีการเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน กว่า 265,000 ไร่ ดังนี้

  • ผิดกฎหมายป่าสงวนแห่งชาติ หากใช้เส้นแนวเขตสำรวจอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2543 ตามมติ ครม. เป็นแนวเขตทับลาน อุทยานแห่งชาติทับลาน จะเป็นการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติกว่า 164,960 ไร่ ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ 
  • กระทบต่อรูปคดี ตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ โดยกระทบต่อรูปคดีที่กล่าวโทษดำเนินคดีไว้แล้วตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ 2504 และอยู่ระหว่างดำเนินการ เป็นนายทุน/ผู้ครอบครองรายใหม่ 470 ราย และเปลี่ยนแปลงพื้นที่ใช้ประโยชน์ 23 ราย เนื้อที่กว่า 11,083 – 3 – 20 ไร่ 
  • เอื้อประโยชน์ต่อนายทุน ให้เข้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยนมือเพื่อสร้างโรงแรม รีสอร์ท และบ้านพักตากอากาศเพิ่มมากขึ้น 
  • ลดคุณค่าความเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ผืนป่าแห่งนี้เป็นต้นน้ำลำธารที่ไหลหล่อเลี้ยงชุมชนโดยรอบ และเป็นพื้นที่ความหวังในการฟื้นฟูประชากรเสือโคร่ง 
  • เปิดโอกาสให้การใช้ประโยชน์ที่ดิน ขุด ถม อัด ตัดไม้ ทำลายสภาพพืชพรรณบริเวณนั้น ผิวดินขาดสิ่งปกคลุมในการรักษาความชุ่มชื้น และช่วยดูดซึมน้ำ จนส่งผลต่อการระบายน้ำตามธรรมชาติและอาจเกิดปัญหาน้ำท่วมอย่างฉับพลันในบริเวณพื้นที่ราบทางตอนล่างตอนช่วงฤดูฝน 
  • แหล่งที่อยู่อาศัย หากิน หรือเส้นทางอพยพเคลื่อนย้ายของสัตว์ป่าลดลง เนื่องจากกิจกรรมมนุษย์เข้าไปรบกวนสัตว์ป่าตามแนวเขตเกินความสามารถในการควบคุมในพื้นที่

ก่อนหน้านี้ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ออกมาระบุถึงมติของคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ ว่า ไม่เป็นไปตามแผนยุทธศาสตร์แห่งชาติ 20 ปี ที่กำหนดให้ต้องมีการเพิ่มพื้นที่ป่าธรรมชาติให้ได้ 35% ของพื้นที่ประเทศ และไม่เป็นไปตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติที่กำหนดให้ไทยต้องมีพื้นที่ป่าอนุรักษ์ไม่น้อยกว่า 25% ของพื้นที่ประเทศ รวมถึงอาจเอื้อประโยชน์ให้กับนายทุน ซึ่งจะกลายเป็นบรรทัดฐานเกิดขึ้นในพื้นที่อนุรักษ์ที่มีปัญหาการทับซ้อนจากการที่มีประชาชนเข้าไปอยู่ในอาศัยในลักษณะเดียวกันนี้ทั่วประเทศ โดยเสนอแนวทางสำหรับแก้ปัญหา คือ

  • กลุ่มที่ 1 พื้นที่ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน (กลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่เดิมมาตั้งแต่แรก) โดยภาครัฐควรเข้าไปสำรวจพื้นที่ และหาวิธีให้คนกลุ่มนี้สามารถอยู่อาศัยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย 
  • กลุ่มที่ 2 พื้นที่จัดที่ดินทำกินตามโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ (คจก.) ภาครัฐควรเข้าไปจัดการจัดสรรที่ดินให้สามารถอยู่อาศัยและทำกินได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย รวมถึงการสร้างระบบสาธารณูปโภค 
  • กลุ่มที่ 3 พื้นที่ที่ไม่ใช่กลุ่ม 1 และกลุ่ม 2 (ของนายทุนหรือบุคคลนอกพื้นที่) ต้องไม่ให้สิทธิ์เป็นพื้นที่ สปก. และดำเนินคดีตามกฎหมาย

ชัยวัฒน์มองหั่นป่า 2.6 แสนไร่ ไป ส.ป.ก. เอื้อเปลี่ยนมือสู่กลุ่มทุน

ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานฯ เปิดเผยกับ Thai PBS News ว่า แม้จะมีการเสนอผนวกพื้นที่ทางตอนเหนือในท้องที่ตำบลจระเข้หิน อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา เพิ่มเข้ามาอีกประมาณ 80,000 ไร่ ก็ยังไม่สามารถที่จะยืนยันว่าจะผนวกเพิ่มได้หรือไม่ เนื่องจากพบว่ามีราษฎรถือครองที่ดินอยู่เป็นจำนวนมาก อีกทั้งยังอยู่ในขั้นตอนของการหาข้อยุติกับกรมป่าไม้ เนื่องจากมีแผนงานโครงการปลูกป่าที่มีงบประมาณต่อเนื่อง รวมทั้งมีการจัดตั้งป่าชุมชนไปเป็นส่วนใหญ่แล้ว

ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานฯ

สำหรับการเพิกถอนอุทยานแห่งชาติ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน จะต้องรับฟังความคิดเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตามมาตรา 8 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ให้สงวน อนุรักษ์ คุ้มครอง และบำรุงรักษาอุทยานแห่งชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่ให้เกิดประโยชน์อย่างสมดุลและยั่งยืน เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาดำเนินการในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย

ขอพูดด้วยความอึดอัดใจ จริง ๆ เคยพูดมาหลายครั้งแล้วแต่ไม่ดังเท่าไร เรื่องนี้มีเรื่องระหว่างคดีโรงแรม รีสอร์ทต่าง ๆ ที่ถูกดำเนินการอยู่ ก็มีกลุ่มการเมือง กลุ่มทุน กลุ่มที่วางโครงตรงนี้ไว้ เพื่อที่จะนำ 2.6 แสนไร่ออก และมีการเจรจากับผู้ต้องหาที่กำลังถูกเดินคดี 400 ราย ซึ่งมีโรงแรมบางส่วนที่ใช้เงินสีเทามาซื้อ จากเดิมที่ทำแล้วขาย 50 ล้าน 100 ล้าน หรือ 70 ล้าน แต่พอถูกคดีเขารู้กันอยู่แล้วว่าจะต้องจบแบบไหน ศาลสั่งรื้ออยู่แล้ว แต่ถ้าโครงการนี้สำเร็จถูกกันออก คดีความที่เป็นอยู่ก็จะกลับตาลปัตร จากผิดติดคุกดำเนินคดี เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ กลายเป็นผู้บริสุทธิ์ แล้วหน่วยงานองค์กรหนึ่งก็จะเข้ามาดูแลดูแลกันและจัดสรรใหม่

ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร

ชัยวัฒน์ ยังตั้งคำถามด้วยว่า ตอนนี้อุทยานแห่งชาติทับลาน จะถูกเฉือนออกไปให้ ส.ป.ก.ดูแล ตอนนี้เห็นแนวทางของ ส.ป.ก. ว่าเปลี่ยนมือได้ ถ่ายโอนได้ ให้คน ให้กลุ่มทุนมาจับมือกันลงทุนได้ ผิดแนวทางหรือไม่ ทำไมกรมอุทยานฯ จึงเพิ่งมาคัดค้าน ซึ่งกรมอุทยานฯ โดยคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติคัดค้านมาโดยตลอด ไม่เห็นด้วยมาโดยตลอด เพราะคณะกรรมการก็มีองค์กรอิสระ ไม่ว่าจะเป็นมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มีฝ่ายกฎหมาย มติมีความเห็นแล้วคัดค้าน แต่มาพูดถึงกันวันนี้อาจจะมีการลักหลับ หรือไม่อันนี้เป็นความเห็นส่วนตัว

สำนักงานนโยบายการจัดการที่ดินแห่งชาติ ที่ออกมาเป็นระเบียบตัวใหม่ ตามกฏหมายเดิมคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ มีมติใดถือว่าจบสิ้นโดยจะคัดค้านไม่ได้ แต่เมื่อมี สำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) สำนักนายกรัฐมนตรี มี ร่างพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินและคุ้มครองพื้นที่เกษตรกรรม พ.ศ. ….  มา เขียนให้อำนาจของกฎหมายสามารถใช้คุมคณะกรรมการชุดนี้ นั่นหมายความว่าเมื่อคณะกรรมการมีความเห็นชอบอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว คณะคณะกรรมการชุดนี้ต้องเห็นชอบตามหรือคัดค้านก็ไม่มีผล

ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร

รอบอร์ดอุทยานฯ ชี้ขาดปมเพิกถอน ป่าทับลาน’ 2.6 แสนไร่

ขณะที่ อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เปิดเผยกับ ทีมข่าวไทยพีบีเอสออนไลน์ ว่า ช่วงวันที่ 4 – 5 ก.ค.ที่ผ่านมา ได้จัดเวทีรับฟังความเห็นในพื้นที่ปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน 265,266 ไร่ ใน จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี โดยยังเปิดรับฟังความเห็นผ่านทางระบบออนไลน์ ที่จะสิ้นสุดในวันที่ 12 ก.ค. นี้ ซึ่งการดำเนินการรับฟังความเห็นเป็นไปตามกระบวนการกฎหมาย ตามมติ ครม. หากแล้วเสร็จทั้ง 2 ช่องทาง กรมอุทยานฯ จะสรุปเสนอต่อคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ คาดว่าจะนำเสนอให้พิจารณาได้เร็วสุดภายในเดือน ส.ค.นี้

อรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช

หากประมวลข้อคิดเห็นแล้วเสร็จ คาดว่าอย่างช้าภายใน 1 – 2 เดือน จะสรุปให้คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ มีมติชี้ขาดเพิกถอนป่าทับลานหรือไม่ แต่ยังมั่นใจว่าจะไม่จะเพิกถอนป่าถึง 2.6 แสนไร่แน่นอน

อรรถพล เจริญชันษา

อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีกระแสวิจารณ์ว่า ไม่มีท่าทีคัดค้านการเพิกถอนป่าทับลาน 265,266 ไร่ ยืนยันว่า กระบวนการต่าง ๆ ยังไม่สิ้นสุด และการรับฟังความเห็นครั้งนี้จะนำมาประกอบเหตุผลให้บอร์ดอุทยานฯ พิจารณา แต่จะไม่ใช้การแก้ปัญหาที่ดินในพื้นที่ทับลานแบบเหมาเข่งอย่างที่นักอนุรักษ์กังวลเด็ดขาด เพราะก่อนหน้านี้กรมอุทยานฯ แยกและกำหนดรูปแบบของที่ดินทำกินในป่าทับลานไว้ 3 กลุ่มชัดเจน โดยเฉพาะกลุ่มรีสอร์ตกว่า 400 แห่งที่ติดในคดีจะต้องไม่ได้ครอบครองที่ดินป่าอนุรักษ์ ส่วนข้อกังวลว่าหากมีการเพิกถอนป่าทับลานได้แล้ว จะถูกใช้เป็นโมเดลกับป่าอนุรักษ์อื่น ๆ

อธิบดีกรมอุทยานฯ ระบุด้วยว่า แต่ละพื้นที่มีปัญหาแตกต่างกัน ไม่สามารถใช้โมเดลเดียวกันได้แน่นอน ส่วนที่เลือกทับลานเป็นแห่งแรก เพราะได้ผ่านการตรวจสอบตามมติ ครม.ปี 2543 ให้สำรวจไว้แล้ว อย่างไรก็ตามเมื่อต้นปี 2567 คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ มีมติรับทราบตาม ครม. ที่มีมติเห็นชอบข้อเสนอทางสำนักงานคณะกรรมการที่ดินแห่งชาติ เสนอใช้เส้นปรับปรุงการสำรวจแนวเขตปี พ.ศ. 2543 ในการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 : 4000  หรือ ONE MAP ในพื้นอุทยานแห่งชาติทับลาน จ.นครราชสีมา และปราจีนบุรี

อุทยานแห่งชาติทับลาน มีพื้นที่ครอบคลุมท้องที่ อ.ปักธงชัย, วังน้ำเขียว, ครบุรี, เสิงสาง จ.นครราชสีมา และ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เนื้อที่ประมาณ 1,387,375 ไร่ หรือ 2,235.80 ตารางกิโลเมตร ซึ่งหากมีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานตามแนวเขตใหม่นี้ จะมีผลทำให้อุทยานแห่งชาติทับลานมีเนื้อที่ลดลง 265,000 ไร่

ย้อนรอย อช.ทับลานลิดรอนสิทธิ์ประชาชน

แม้หลายฝ่ายในสังคมเวลานี้จะเห็นสอดคล้องกับ #Saveทับลาน แต่อีกด้านมุมมองจากเครือข่ายภาคประชาชน อย่าง กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน (Land Watch THAI) ก็อยากให้สังคมทำความเข้าใจในอีกมิติของปัญหาที่ดินในพื้นที่ทับลานด้วย

พรพนา​ ก๊วยเจริญ​ ผู้อำนวยการ Land​ ​Watch​ THAI เปิดเผยกับ The Active ว่า กรณีพื้นที่ทับลานที่เป็นประเด็นอยู่ในเวลานี้ต้องย้อนกลับไปดูประวัติศาสตร์ เรื่อง ที่ดิน ส.ป.ก. ในพื้นที่ทับลาน ซึ่งมีความแตกต่างจากที่ดิน ส.ป.ก. ในพื้นที่ทั่วไป โดยอ้างถึง มติคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2536 ให้นำป่าสงวนแห่งชาติ มาจัดเป็นที่ดิน ส.ป.ก. โดย พื้นที่ทับลานเป็นพื้นที่ที่ ส.ป.ก. จัดสรรในโครงการปฏิรูปที่ดินของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อปี 2520 ซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลไทยไปกู้เงินธนาคารโลกเพื่อมาจัดสรรที่ดิน โดยเริ่มในปี 2521 กระทรวงเกษตรฯ มีโครงการปฏิรูปที่ดิน ในพื้นที่ป่าวังน้ำเขียวและป่าภูหลวง โดยจะต้องมีการเพิกถอนพื้นที่ป่าสงวน ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลขณะนั้น…

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า